ความเข้าใจเกี่ยวกับ BIM (Building Information Modeling) ของคนส่วนใหญ่ เป็นเพียงการเปลี่ยน Software หรือ Tool ซึ่งต่างจากหลายบทความที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันว่า การใช้ BIM จำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนกระบวนการทำงานและดูเป็นเรื่องยุ่งยาก
ลำพังแค่การเรียนหรือการฝึกใช้เครื่องมือก็ยากอยู่แล้ว หากต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานจะมีอะไรตามมาอีก
แล้วจะสำเร็จหรือไม่ บทความนี้ต้องการเสนอมุมมองเปรียบเทียบว่า
ความจริงแล้วการเปลี่ยนเครื่องมือ มักจะมีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของเราอยู่แล้ว หากแต่ประเด็นสำคัญคือ
เราควรทำความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับจากรูปแบบวิธีการใหม่ที่เกิดขึ้น และแสวงหาวิธีใช้เครื่องมือหรือกระบวนการทำงานที่เหมาะสมที่สุด
สมมติว่า
ช่างไม้คนหนึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการทำงานด้วย ค้อน กับ ตะปู
วันหนึ่งมีคนเข้ามาเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีลักษณะคล้ายตะปู แต่มีเกลียวพันรอบ
ผลิตภัณฑ์นี้เรียกว่า “สกรู” ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถยึดแผ่นไม้ได้ดีกว่าตะปู 5 ดอก ไม่มีปัญหาการบิดงอระหว่างทำงาน
และรับแรงดึงได้อีกด้วย เมื่อช่างไม้ได้ยินดังนั้น
ก็รู้สึกสนใจในผลิตภัณฑ์และนำมาทดลองใช้กับงานที่กำลังทำอยู่
โดยวางสกรูที่ผิวของไม้ และตอกลงไปด้วยค้อนคู่ใจอย่างเคย
ผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คิด ช่างไม้หันมาต่อว่าผู้แนะนำว่า นอกจากตอกยากแล้วยังทำให้ผิวหน้าของไม้เสียหายอีกด้วย
ผู้แนะนำพยายามอธิบายว่าเครื่องมือนี้จำเป็นต้องใช้คู่กับอุปกรณ์อีกอย่างที่เรียกว่า
“ไขควง” และต้องใช้วิธีการไขหรือหมุดลงไปในเนื้อไม้ไม่ใช่การตอกลงไปเหมือนตะปู
นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นไม้เนื้อแข็ง อาจจำเป็นต้องใช้สว่านเจาะนำอีกด้วย
เมื่อช่างไม้ได้ยินดังนั้นจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลาเรียนรู้เครื่องมืออีกมากมาย
จึงหันกลับมาใช้ตะปูทำงานอย่างเดิม
จากกรณีตัวอย่างข้างต้น
การตัดสินใจไม่เรียนรู้เครื่องมือใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะทั้งเครื่องมือและวิธีการแบบเดิมยังสามารถตอบสนองการทำงานของช่างไม้ได้อย่างเคย
หากแต่ช่างไม้มองเห็นประโยชน์ในการใช้งาน สกรู ในเรื่องคุณภาพ ความเรียบร้อยและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นของชิ้นงาน รวมถึงการใช้สกรูและอุปกรณ์ร่วมอย่างสว่าน
สามารถใช้กับงานปูนหรืองานเหล็กได้ ซึ่งการใช้ค้อนกับตะปูไม่สามารถทำได้ ก็อาจทำให้ช่างไม้เกิดความสนใจ
และยินดีที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแบบด้วยมือ การใช้ CAD
(Computer Aided Design) หรือ BIM ต่างก็สามารถตอบสนองการทำแบบก่อสร้างได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการได้รับประโยชน์ใดจากการใช้เครื่องมือหรือกระบวนการทำงานนั้น
ดังเช่นในอดีตที่เราเคยเปลี่ยนแปลงจากการเขียนแบบด้วยมือ มาเป็นการใช้ CAD เพราะเห็นประโยชน์ในการแก้ไขและลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน
และทุกท่านก็ทราบถึงกระบวนการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า CAD
ก็เป็นกระบวนการทำงานแบบใหม่ในเวลานั้น
เช่นเดียวกับ BIM หากมองเห็นถึงประโยชน์ในการประสานงาน ตรวจสอบ ความขัดแย้งของแบบ
การถอดปริมาณวัสดุ การคำนวณพลังงาน หรือการบริหารจัดการอาคาร ฯลฯ
ซึ่งกระบวนการเขียนแบบด้วยมือหรือ CAD ไม่สามารถตอบสนองได้ ดังนั้น
การเลือกที่จะเรียนรู้กระบวนการและเครื่องมือใหม่อย่าง BIM จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
สำหรับท่านที่ต้องการได้รับประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว
นอกเหนือจากการเขียนแบบเพียงอย่างเดียว
สรุปส่วนตัวคิดว่า
การเปลี่ยนจาก CAD ไป BIM สามารถมองได้ทั้ง 2 มุม ทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือแล้วมีผลต่อกระบวนการทำงาน
หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานทำให้ต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามอยากเสนอให้ผู้ที่สนใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
ศึกษาถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาก BIM เป็นสำคัญ
เพื่อพัฒนาวิธีการใช้งานเครื่องมือและกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับองค์กร
ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของ BIM จะได้ไม่เป็นการใช้ค้อนตอกสกรูลงบนชิ้นงานครับ
ปล. บทความแรกหลังจากหายไปเกือบปี ^ ^
ขอบคุณทีมงานจาก Facebook Page: Revit Thailand ที่ให้การบ้านมาขบคิดเขียนบทความนี้ขึ้นมา